ในบรรดาสายไฟที่นิยมนำมาใช้ในงานระบบไฟฟ้า นอกเหนือจาก สายไฟ VAF ที่นิยมใช้ในครัวเรือนแล้ว สายไฟ VCT ก็เป็นอีกหนึ่งประเภท ที่ช่างไฟฟ้าต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี มีความปลอดภัยต่อระบบไฟฟ้า เพราะฉะนั้น เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกันว่า สายไฟชนิดนี้คืออะไร ใช้กับงานประเภทไหนได้บ้าง มีข้อจำกัดหรือไม่ แล้วควรเลือกใช้อย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับระบบไฟฟ้า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับสายไฟฟ้า VCT นั้น นับว่าเป็นหนึ่งในประเภทสายไฟพื้นฐาน ที่ช่างไฟฟ้าต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะมีความสำคัญทั้งต่อตัวระบบไฟฟ้า และการใช้งานที่หลากหลายรูปแบบ
- สายไฟ VCT คืออะไร?
- 3 ประเภทของสายไฟฟ้า VCT
- การเลือกใช้สายไฟฟ้า VCT ให้เหมาะสมกับงานระบบ
- สายไฟฟ้า VCT มีอายุการใช้งานนานมากแค่ไหน?
สายไฟ VCT คืออะไร?
สายไฟ VCT คือ สายไฟที่มีแกนทองแดงเป็นตัวนำไฟฟ้าชนิดหนึ่ง โดยมีฉนวนและเปลือกของสายไฟ ที่ทำจาก PVC มีเปลือกชั้นเดียว สามารถรับแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 450/750V และอุณหภูมิสูงสุด 70 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวทองแดงที่นำมาทำเป็นฉนวนนั้น จะมีลักษณะเป็นเส้นฝอยเล็ก ๆ ที่เอามามัดรวมกันเป็นแกน โดยมีตั้งแต่แบบ 1 แกน, 2 แกน, 3 แกน และสายไฟแบบ 4 แกน โดยเป็นการแบ่งประเภทของสายไฟ ตามจำนวนแกนของทองแดง ที่นำมาทำเป็นตัวนำไฟฟ้านั่นเอง
ทั้งนี้ ข้อดีของการที่สายไฟ VCT ที่ใช้ทองแดงที่เป็นเส้นฝอย นั่นก็คือ ช่วยให้สายไฟมีความอ่อนตัวได้ค่อนข้างดี และยังมีผลต่อความทนทานจากการสั่นสะเทือน จึงส่งผลให้สายไฟชนิดนี้สามารถนำมาต่อลงดินได้ ตอบโจทย์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดินโดยเฉพาะ
3 ประเภทของสายไฟฟ้า VCT
สำหรับสายไฟ VCT นั้น ถึงแม้ว่าจะสามารถจำแนกลักษณะของสายไฟ โดยแบ่งตามจำนวนแกนได้แล้ว ก็สามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้อีกเช่นกัน นั่นก็คือ
-
ประเภทแกนเดี่ยว
โดยตัวสายจะมีแกนทองแดงเพียง 1 แกน โดยมีขนาดตั้งแต่ 4-35 sq.mm. ซึ่งสายที่เป็นแกนเดี่ยวจะไม่มีการกำหนดสีฉนวน เช่น สายไฟ VCT Yazaki
-
ประเภทหลายแกน
สำหรับสายไฟ VCT ประเภทหลายแกน จะมีตั้งแต่ 2 แกน, แบบ 3 แกน และ 4 แกน ตามที่อธิบายไปในข้างต้น ซึ่งตัวสายไฟจะมีขนาดตั้งแต่ 4-35 sq.mm ตามมาตรฐานของ มอก. 11-2553 ที่กำหนดเอาไว้ให้มีเพียงขนาดเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ สีของฉนวนสายไฟฟ้า VCT จะกำหนดสีตามประเภทของแกนแต่ละแบบ คือ
- แบบ 2 แกน กำหนดสีฉนวน คือ สีฟ้า และสีน้ำตาล
- แบบ 3 แกน กำหนดสีฉนวน คือ สีน้ำตาล สีดำ และสีเทา
- แบบ 4 แกน กำหนดสีฉนวน คือ สีฟ้า สีน้ำตาล สีดำ และสีเทา
-
ประเภทหลายแกนมีสายดิน
อีกหนึ่งประเภทของสายไฟฟ้า VCT นั่นก็คือ สายแบบหลายแกนมีสายดิน หรือก็คือสายกราวนด์ ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ 2-4 แกน โดยมีขนาดตั้งแต่ 4-35 sq.mm ซึ่งจะมีการกำหนดสีฉนวนเขียวคาดเหลือง ที่เพิ่มขึ้นมาจากสายไฟ VCT แบบหลายแกน เพื่อให้รู้ว่าเป็นประเภทหลายแกนมีสายดิน หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า VCT-G
แน่นอนว่า ถ้าหากเทียบเรื่องคุณสมบัติของสายไฟ ทั้งในแง่ของความทนทานต่อความร้อน หรือแรงดันไฟฟ้าของสายไฟ VCT-G กับตัวสาย VCT ปกติแล้ว ก็ยังมีคุณสมบัติที่เหมือน ๆ กัน เพียงแค่ VCT-G มีสายดินเพิ่มเข้ามาแค่นั้นเอง
การเลือกใช้สายไฟฟ้า VCT ให้เหมาะสมกับงานระบบ
สำหรับการใช้งานสายไฟฟ้า VCT นั้น โดยหลัก ๆ แล้ว จะเหมาะกับการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยหลัก ๆ แล้ว จะเหมาะสำหรับเครื่องมือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเคลื่อนย้ายเป็นประจำ หรือใช้ในงานระบบทั่ว ๆ ไป ซึ่งงานระบบไฟฟ้าที่นิยมใช้ สายไฟ VCT นั่นก็คือ
- การเดินสายไฟบนรางเคเบิล
- การร้อยท่อฝังดิน หรือการฝังดินโดยตรง
- การเดินสายไฟแบบตีกิ๊ฟ หรือเดินลอย
- การร้อยท่อฝังผนังคอนกรีต
- การร้อยท่อเดินใต้ฝ้าเพดาน
- การเดินสายไฟบนฉนวนลูกถ้วย
- เดินสายไฟบนราง Cable Tray หรือเดินในราง Wireway
ทั้งนี้ การเดินสายไฟฟ้า VCT ใต้ดิน จะต้องเลือกเดินในท่อฝังดิน ที่มีการป้องกันปัญหาน้ำเข้าท่อ และน้ำซึมด้วย หรือในกรณีที่จะนำไปฝังดิน แนะนำว่า ควรเลือกใช้ประเภท VCT-G หรือก็คือ สายไฟฟ้า VCT ประเภทที่มีสายดินอยู่ในตัว ซึ่งจะเป็นแบบหลายแกนอย่างที่อธิบายไปแล้วในข้างต้น
Tips: การเดินสายไฟฟ้า VCT บนราง Cable Tray หรือ Cable Ladder ถ้าเป็นสายแกนเดี่ยวจะต้องใช้สายไฟ VCT ที่มีเปลือกขนาดไม่ต่ำกว่า 25 sq.mm แต่ถ้าหากใช้สายไฟประเภทหลายแกน สามารถเลือกวางได้ทุกขนาดตามการใช้งาน
สายไฟฟ้า VCT มีอายุการใช้งานนานมากแค่ไหน?
สำหรับสายไฟฟ้า VCT นั้น โดยพื้นฐานแล้ว ตัวสายไฟฟ้าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี เนื่องด้วยเป็นสายไฟที่มีความทนทาน แข็งแรง ตัวสายไฟมีความอ่อนตัว และที่สำคัญคือ เปลือกชั้นนอกถูกหุ้มด้วยพลาสติก PVC เป็นฉนวน ซึ่งมีคุณสมบัติหลัก ๆ คือ ความเหนียว ทั้งยังทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี จึงส่งผลให้สายไฟมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในกรณีที่ติดตั้งสายไฟ VCT ด้วยการร้อยท่อ ก็จะยิ่งเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานมากขึ้น เพราะการร้อยท่อจะช่วยป้องกันสายไฟ จากการถูกทำลายจากสภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งหนู ตลอดจนสัตว์กัดแทะนานาชนิด และที่ขาดไม่ได้คือ การร้อยท่อยังช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือการเกิดไฟไหม้ได้ด้วย เพราะตัวประกายไฟจะถูกจำกัดเอาไว้ให้อยู่ภายในท่อเพียงเท่านั้น จึงช่วยป้องกันอันตรายและการเกิดเหตุไม่คาดคิดได้นั่นเอง
ถึงแม้ว่าตัว สายไฟ VCT จะมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน และยังมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม แต่ถ้าหากติดตั้งหรือใช้งานไม่ถูกประเภท หรือไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การติดตั้งบริเวณนอกบ้าน โดยให้สัมผัสกับฝนหรือแสงแดดโดยตรง ก็ย่อมส่งผลให้ลดอายุการใช้งานลงได้ ชนิดที่ว่าอาจน้อยกว่า 10 ปี กันเลยทีเดียว และต้องอย่าลืมว่าสายไฟฟ้า VCT ก็มีความทนทานต่อความร้อนสูงสุดอยู่ที่ 70 องศาเซลเซียส ถ้าหากติดตั้งในจุดที่โดนแดดตรง ๆ หรือในจุดที่สะสมความร้อน เช่น ใต้ฝ้าเพดานบ้าน ก็อาจส่งผลให้สายไฟชำรุดและเสียหายได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ สายไฟ VCT ในงานระบบไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในลักษณะใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือ การเลือกใช้ให้ถูกและเหมาะสม เช่น ในกรณีที่ต้องการฝังดิน ก็ควรเลือกใช้สายไฟ VCT-G ที่มีสายดินให้โดยตรงจะดีกว่า หรือถ้าหากอยากยืดอายุการใช้งาน ก็สามารถติดตั้งร่วมกับการร้อยท่อได้ตามจุดที่ติดตั้ง เพื่อช่วยเพิ่มความทนทานและยืดอายุการใช้งานของสายไฟได้ และยังส่งผลต่อการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย