ในการเดินสายไฟฟ้าหรือระบบไฟฟ้าในอาคาร หลายครั้งที่ช่างไฟฟ้าเลือกใช้ ท่อร้อยสายไฟ เพื่อทำให้สายไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ดูเกะกะหรือรกสายตา นอกจากนี้ ท่อร้อยสายไฟยังมีความสำคัญต่อระบบไฟฟ้าในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น มาลองดูกันว่าท่อร้อยสายไฟคืออะไร มีกี่ประเภท แล้วงานระบบไฟฟ้าแบบไหนถึงควรเดินสายไฟด้วยท่อร้อยสายไฟ
การใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าในงานระบบไฟฟ้านั้น ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การทำให้สายไฟดูเป็นระเบียบเท่านั้น เพราะการใช้ท่อร้อยสายไฟยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ตามลักษณะการใช้งาน
- ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร?
- ประเภทของท่อร้อยสายไฟ และการใช้งานที่เหมาะสม
- ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ท่อร้อยสายไฟ
- สาระน่ารู้ ผลกระทบเมื่อใช้ท่อร้อยสายไฟที่ไม่มีมาตรฐาน
ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร?
ท่อร้อยสายไฟ คือ ท่อชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับหุ้มสายไฟฟ้า มีหน้าที่ร้อยสายไฟหรือสายสัญญาณให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และที่สำคัญคือ ท่อร้อยสายไฟยังช่วยป้องกันอันตราย ในกรณีที่อาจเกิดไฟฟ้าดูดหรือไฟรั่ว ทั้งยังช่วยลดการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ รวมถึงป้องกันการโดนสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจทำให้สายไฟเกิดความเสียหาย เช่น น้ำ สัตว์กัดแทะ เป็นต้น
ประเภทของท่อร้อยสายไฟ และการใช้งานที่เหมาะสม
สำหรับท่อร้อยสายไฟฟ้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ตามวัสดุในการผลิต นั่นก็คือ
-
ท่อร้อยสายไฟ ประเภทโลหะ
1.1. ท่อโลหะขนาดบาง (EMT หรือ Electrical Metallic Tubing)
สำหรับท่อโลหะขนาดบาง หรือ ท่อร้อยสายไฟ EMT มีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 2 นิ้ว จะนิยมติดตั้งแบบเดินลอยภายในอาคาร หรือการซ่อนในฝ้า ห้ามใช้ฝังดินหรือการฝังในผนังคอนกรีตอย่างเด็ดขาด
1.2. ท่อโลหะขนาดกลาง (IMC หรือ Intermediate Conduit)
เป็นท่อร้อยสายไฟชนิดโลหะที่มีขนาดใหญ่กว่าขนาดบางเพียงเล็กน้อย ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง 1/2 – 4 นิ้ว โดยส่วนมากจะนิยมใช้ฝังในผนัง เดินลอยนอกอาคาร หรือฝังในพื้นคอนกรีต
1.3. ท่อโลหะหนาพิเศษ (RSC หรือ Rigid Steel Conduit)
เป็นท่อร้อยสายไฟที่มีลักษณะและการติดตั้งเหมือนกับท่อขนาดกลาง (IMC) แต่จะมีความแข็งแรงมากกว่า และมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่ขึ้นมา 1/2 – 6 นิ้ว
1.4. ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit)
สำหรับท่อชนิดนี้ทำจากโลหะ เช่น สเตนเลส มีความแข็งแรงพอสมควร และสามารถรองรับการโค้งงอได้ ตัวท่อมีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 4 นิ้ว แต่มีข้อจำกัดคือ ป้องกันของเหลวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนมากนิยมติดตั้งท่อร้อยสายไฟเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น การต่อเข้ากับดวงโคม เครื่องจักรที่มีการสั่นสะเทือน หรือแต่การต่อเข้ากับมอเตอร์
1.5. ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Raintight Flexible Metal Conduit)
จะมีลักษณะคล้ายกับท่อโลหะอ่อน แต่ตัวท่อจะถูกหุ้มด้วยพลาสติก PVC นั่นหมายความว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกันน้ำและความชื้นได้ ซึ่งส่วนมากจะนิยมใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต้องติดตั้งในจุดที่มีความชื้นโดยเฉพาะ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น แต่ข้อจำกัดคือ ไม่ควรติดตั้งในจุดที่มีความร้อนสูง เพราะอาจจะทำให้พลาสติก PVC ที่หุ้มท่อละลายได้นั่นเอง ทั้งนี้ ตัวท่อร้อยสายไฟชนิดนี้มีขนาดตั้งแต่ 1/2 – 4 นิ้ว
-
ท่อร้อยสายไฟฟ้า ประเภทพลาสติก
2.1. ท่อพลาสติก PVC
เป็นท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ทำจากพลาสติกประเภท PVC ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ ความทนทานต่อความชื้น ทำให้ตัวท่อไม่ขึ้นสนิม
ท่อพลาสติก PVC สีขาว เหมาะสำหรับการเดินลอย การร้อยสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ นิยมใช้ในงานต่อเติมหรือดีไซน์ สามารถดัดเย็นได้สูงสุดถึง 90 องศา
ท่อพลาสติก PVC สีเหลือง เหมาะสำหรับการเดินฝังบนผนัง เน้นความเป็นฉนวนไฟฟ้า มีจุดเด่นคือ ไม่นำไฟฟ้าและลามไฟ แต่ไม่ทนต่อรังสี UV
2.2. ท่อพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene)
นับว่าเป็นท่อร้อยสายไฟที่มีความแข็งแรง และความอ่อนตัวในระดับหนึ่ง มีน้ำหนักเบา จึงทำให้ส่งผลต่อการใช้งานที่ยาวนาน โดยส่วนมากจะนิยมใช้ในงานที่ต้องการความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ อย่างเช่น การใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยตัวท่อมีขนาดตั้งแต่ 1/2 นิ้วขึ้นไป
2.3. ท่อพลาสติก EFLEX (Flexible Conduit)
เป็นท่อพลาสติกที่ทำจาก PA หรือ PE ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความอ่อนตัว ทนทาน รองรับการโค้งงอได้ดี และที่สำคัญคือ ไม่ลามไฟและติดไฟ
ข้อดี-ข้อเสีย ของการใช้ท่อร้อยสายไฟ
- ข้อดีจากการใช้ท่อร้อยสายไฟ
- ทำให้การเดินสายไฟมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูสวยงาม
- ป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ หรือสายไฟโดนทำลายจากสิ่งต่าง ๆ เช่น น้ำ ของเปลว ฝุ่น สารเคมี และสัตว์กัดแทะ
- ป้องกันความสุ่มเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดประกายไฟเฉพาะภายในท่อ
- ข้อเสียจากการใช้ท่อร้อยสายไฟ
- ใช้เวลาในการดำเนินการที่นานมากกว่า ทำให้เพิ่มระยะเวลาในการดำเนินงาน
- ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และสูงกว่าการเดินสายไฟแบบเปลือย
เมื่อต้องซ่อมแซมหรือแก้ไข จะใช้เวลาในการทำงานมากขึ้นและยากกว่า
สาระน่ารู้ ผลกระทบเมื่อใช้ท่อร้อยสายไฟที่ไม่มีมาตรฐาน
ถึงแม้ว่า ท่อร้อยสายไฟ จะมีหลายประเภท และช่วยทำให้การเดินสายไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ช่วยป้องกันอันตรายจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ได้ แต่ก็อย่าลืมว่า หากต้องการใช้ท่อร้อยสายไฟ ก็ควรเลือกใช้ให้ถูกกับประเภทของการใช้งาน ที่เหมาะสมตามลักษณะของท่อแต่ละประเภท ที่อธิบายไปแล้วในข้างต้น
ทั้งนี้ หากใช้ท่อร้อยสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมส่งผลกับระบบไฟฟ้าหรือสายไฟเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- ท่อร้อยสายไฟอาจเปราะและแตกได้ จนทำให้มีสัตว์กัดแทะหลุดเข้าไปโดนสายไฟได้
- ในกรณีที่ใช้ท่อร้อยสายไฟสำหรับใช้ในอาคาร ไปใช้บริเวณภายนอกอาคาร เมื่อโดนรังสี UV หรือความร้อนมาก ๆ ก็อาจส่งผลให้ท่อร้อยสายไฟกรอบแตกได้ จนอาจส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมา
- หากท่อที่ใช้ไม่มีมาตรฐาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟรั่วได้ จนส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- อาจต้องเสียเวลาในการติดตั้งหรือแก้ไขท่อร้อยสายไฟใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
อย่างไรก็ตาม การใช้งาน ท่อร้อยสายไฟ ของงานระบบไฟฟ้าภายในบ้าน สิ่งสำคัญคือ ต้องเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟที่มีมาตรฐาน ใช้ถูกต้องตามลักษณะของการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ท่อร้อยสายไฟกรอบแตก และยังช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ ก่อนเดินสายไฟที่ดี ต้องมีการวางแผนเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างที่ดี เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้ในอนาคต