ในบรรดาสายไฟที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็ต้องยกให้กับ สายไฟ VCT ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งยังเป็นสายไฟที่ช่างไฟฟ้านิยมใช้ติดตามอาคาร ซึ่งสายไฟประเภทนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ VCT และ VCT-G เพราะฉะนั้น เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับสายไฟชนิดนี้ให้มากขึ้นว่า มีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

          สายไฟชนิด VCT และ VCT-G นับเป็นสายไฟที่มีความทนทานสูง และค่อนข้างตอบโจทย์ต่อการใช้งาน ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในสายไฟพื้นฐานที่ช่างไฟฟ้าควรรู้

  1. ลักษณะโดยทั่วไปของ สายไฟ VCT ที่ควรรู้
  2. สายไฟ VCT และ VCT-G แตกต่างกันอย่างไร
  3. การใช้งานที่เหมาะสมของสายไฟ VCT และ VCT-G
  4. รวมเคล็ด(ไม่)ลับ การเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสมต่อการใช้งาน

 

ลักษณะโดยทั่วไปของ สายไฟ VCT ที่ควรรู้

          สำหรับสายไฟ VCT คือ สายไฟประเภทหนึ่งที่ได้รับการรับรองจาก มอก. (สายมอก. : Building Wire) โดยมี PVC เป็นส่วนประกอบของฉนวนและเปลือกสายไฟ ใช้แกนทองแดงที่เป็นเส้นฝอยเล็ก ๆ เป็นตัวนำไฟฟ้า ซึ่งสายไฟ VCT มีทั้งแบบ 1 แกน, 2 แกน, 3 แกน และแบบ 4 แกน โดยพื้นฐานแล้วสายไฟชนิดนี้สามารถทนต่อแรงดันไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 450/750V รองรับอุณหภูมิสูงสุดที่ 70 องศาเซลเซียส

          สำหรับโครงสร้างของ สายไฟ VCT นั้น จะมีตัวนำที่ทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 4-35 sq.mm. โดยที่ตัวฝอยทองแดงที่ใช้เป็นแกนสายไฟนั้น มีข้อดีคือ ทำให้สายไฟมีความอ่อนตัวและทนทานต่อการสั่นสะเทือนได้ดีมากขึ้น รองรับการโค้งงอได้สูง จึงทำให้เป็นสายไฟชนิดหนึ่งที่นิยมใช้โดยทั่วไป โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จนขึ้นชื่อว่าเป็นสายไฟสารพัดประโยชน์ ทั้งนี้ ตัวสาย VCT นั้น ใช้มาตรฐานอ้างอิงจาก มอก. 17-2553 เล่ม 101

สายไฟ VCT และ VCT-G แตกต่างกันอย่างไร

          สำหรับความแตกต่างของสายไฟ VCT และ สายไฟ VCT-G นั้น โดยพื้นฐานของคุณสมบัติไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น พิกัดแรงดัน โครงสร้างของสายไฟ ฉนวนและเปลือกที่ทำด้วย PVC รวมถึงอุณหภูมิในการใช้งานสูงสุด แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ สายไฟแบบ VCT-G นั้น เป็นสายไฟที่มีสายดินรวมไปด้วยอีกหนึ่งเส้น เพื่อทำให้เหมาะสมต่อการใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน ทำให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานมากขึ้น แต่สายไฟ VCT-G จะมีขนาดตั้งแต่ 2 แกนขึ้นไป

Tips : การเลือกสายไฟฟ้าที่ใช้ในการติดตั้งฝังดิน โดยพื้นฐานแล้วตัวสายไฟต้องมีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยฉนวน และเปลือกชั้นนอก โดยที่พิกัดแรงดันต้องอยู่ที่ 450/750V ขึ้นไป และการสังเกตสัญลักษณ์ G ที่ต่อท้ายสายไฟ คือการระบุว่าสายไฟชนิดนั้น ๆ มีสายดิน เช่น VCT-G หรือแม้แต่ NYY-G

สายไฟ VCT

การใช้งานที่เหมาะสมของ สายไฟ VCT และ VCT-G

          สำหรับการใช้งานของสายไฟ VCT / VCT-G โดยทั่วไปนั้น โดยพื้นฐานของสายไฟจะมีจุดเด่นคือ ความอ่อนตัวและความทนทานต่อการสั่นสะเทือนได้ดี จึงทำให้เหมาะสมกับการใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ นอกจากนี้ สายไฟแบบ VCT / VCT-G ยังสามารถใช้งานในด้านอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้งานสำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ที่เคลื่อนย้ายเป็นประจำเท่านั้น เช่น

  • การเดินบนรางเคเบิล
  • การเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ
  • การร้อยท่อฝังดิน
  • การฝังดินโดยตรง 

รวมเคล็ด(ไม่)ลับ การเลือกใช้สายไฟให้เหมาะสมต่อการใช้งาน

  1. เลือกใช้สายไฟที่ผ่านมาตรฐาน มอก. เท่านั้น

          การเลือกใช้สายไฟที่ดีและเหมาะสม คือการเลือกใช้สายไฟที่มีเครื่องหมาย มอก. เพื่อเป็นการรับรองว่า ผ่านมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และที่สำคัญคือ ควรดูสัญลักษณ์และมาตรฐานสายไฟในระดับสากลด้วยเช่นกัน เช่น

  • British Approvals Service for Cables: BASEC เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสายไฟฟ้าจากประเทศอังกฤษ
  • UL หรือองค์กรอิสระระดับโลก ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์และสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งนับว่าเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับ
  • KEMA Laboratories: KEMA หรือก็คือห้องปฏิบัติการทดสอบสายไฟที่ทันสมัยและมีมาตรฐานที่สุดในโลก โดยตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหน้าที่หลัก ๆ คือ การตรวจสอบสเปกของสายไฟ คุณภาพของสายไฟแต่ละชนิด ตลอดจนการตรวจสอบความปลอดภัยเมื่อนำสายไฟชนิดนั้น ๆ ไปใช้งานจริง
  • SGS หรือองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งการมีมาตรฐานของ SGS นั้น สามารถการันตีได้ว่า สายไฟที่ใช้เป็น “บรรทัดฐานสากลระดับโลก”
  1. การเลือกสายไฟ ตามมาตรฐานใหม่ของสาย VCT และ VCT-G

        ล่าสุดนั้นสายไฟ VCT และ NYY นั้น มีการแก้ไขมาตรฐานใหม่ เป็น มอก.11 เล่ม 101-2559 โดยเนื้อหาที่มีการแก้ไขนั้น เป็นการแก้ไขโดยการอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล IEC 60227 ซึ่งเป็นการนำเอา IEC 60227 Part 1 – 5 มาปรับใช้ให้เป็น มอก. เล่ม 1 – 5 และเพิ่มเติม มอก.11 เล่ม 101

          โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นมีเพียงเรื่องเดียวหลัก ๆ คือ การเพิ่มขนาดของตัวนำขนาดเล็กของสายไฟให้มีขนาดตั้งแต่ 1 ตร.มม. ขึ้นไป เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งสายไฟที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ครอบคลุมทั้ง NYY, NYY-G, VCT และ สายไฟ VCT-G

  • สาย VCT แกนเดี่ยว เพิ่มตัวนำขนาด 1-2.5 ตร.มม.
  • สาย VCT 2, 3 และ 4 แกน เพิ่มตัวนำขนาด 1-2.5 ตร.มม.
  • สาย VCT-G 2, 3 และ 4 แกน เพิ่มตัวนำขนาด 1-2.5 ตร.มม.
  1. สายไฟที่เลือกใช้เดินในอาคาร ห้ามนำไปเดินนอกอาคาร

          อีกหนึ่งวิธีการเลือกใช้สายไฟที่ห้ามมองข้ามก็คือ การเลือกสายไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ในการเดินภายในอาคารนั้น ห้ามนำไปใช้ในการเดินนอกอาคารอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในจุดที่โดนแสงแดด ที่จะส่งผลให้สายไฟเสื่อมได้เร็ว และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพของฉนวนสายไฟด้วยเช่นกัน เพราะสายไฟที่สามารถใช้เดินนอกอาคารได้จะต้องมีการสารป้องกันแสงแดด

  1. ศึกษาการติดตั้งของสายไฟแต่ละชนิด

          การเลือกสายไฟให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกหนึ่งวิธี คือการเลือกสายไฟโดยคำนึงจากสภาพการติดตั้งเป็นหลัก อย่างเช่น หากเป็นสายไฟชนิดอ่อนก็ไม่ควรนำไปยึดติดกับผนัง หรือการลากผ่านในจุดที่มีการกดทับสาย เพราะฉนวนของสายไฟเหล่านี้จะไม่สามารถรองรับแรงกดจากอุปกรณ์ยึดจับสายได้ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม สายไฟ VCT และ สายไฟ VCT-G นั้น หากกล่าวถึงพื้นฐานของสายไฟแล้ว ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติและการใช้งานที่เหมือน ๆ กัน หากแต่สาย VCT-G จะเป็นสาย VCT ที่มีสายดินเพิ่มเข้ามา ที่สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดินโดยเฉพาะ เช่น เครื่องซักผ้า ที่ต้องใช้สาย VCT-G ที่มีทั้งสายดิน และมีคุณสมบัติของการสั่นสะเทือนได้ดี เป็นต้น