การเลือกใช้ สายไฟ ให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานภายในบ้านเรือน นอกเหนือจากการใช้งานให้ถูกตามประเภทแล้ว สิ่งสำคัญคือ การสังเกตว่าสายไฟนั้นยังอยู่ในสภาพที่เต็ม 100% หรือไม่ เสื่อมสภาพไหม ถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนแล้วหรือยัง เพราะฉะนั้น เราจะพาคุณมาไขคำตอบกันว่า การสังเกตสายไฟฟ้าภายในบ้านให้ดูจากอะไรเป็นหลัก มีวิธีการสังเกตอย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณสามารถใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือนได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล
สำหรับการใช้งานสายไฟนั้น ถึงแม้ว่าจะใช้สินค้าที่มีคุณภาพ มีการรับประกันจากบริษัทผู้จัดจำหน่าย แต่สุดท้ายแล้วสายไฟแต่ละชนิดก็ย่อมมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
- อายุการใช้งานของสายไฟ
- 3 ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลให้ สายไฟ ที่ใช้งาน หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
- รวมเทคนิคง่าย ๆ เช็กสายไฟว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง?
- เมื่อต้องการเปลี่ยนสายไฟ มีอะไรบ้างควรรู้
อายุการใช้งานของสายไฟ
สำหรับการอายุการใช้งานของสายไฟแต่ละชนิด เบื้องต้นนั้น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สายไฟในบ้าน เช่น สายไฟ THW โดยหลัก ๆ แล้ว จะมีส่วนประกอบ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ตัวนำทองแดงและฉนวน ซึ่งฉนวนสายไฟที่ทำจากพลาสติก PVC นั้น มักจะเสื่อมสภาพได้ง่ายจากตัวกระตุ้นตามสภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด ความชื้น และความร้อน ซึ่งเมื่อเกิดการเสื่อมสภาพแล้ว ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วตามไปด้วย จึงต้องทำการเปลี่ยนสายไฟเป็นลำดับถัดมา
ทั้งนี้ อายุการใช้งานของสายไฟโดยเฉลี่ยนั้น จะมีอายุประมาณ 15 – 20 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ติดตั้งอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่มากระตุ้นจนทำให้สายไฟเสื่อมสภาพเร็วมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หากบ้านไหนที่ใช้วิธีการเดินสายไฟแบบร้อยท่อ ก็จะช่วยทำให้สายไฟมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เพราะการร้อยท่อจะทำให้ป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือตัวกระตุ้นที่จะทำให้สายไฟเสียหายได้นั่นเอง
3 ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลให้ สายไฟ ที่ใช้งาน หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
-
แสงแดด
นับว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลให้สายไฟเสื่อมสภาพได้เร็ว เพราะตัวรังสี UV เป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้ตัวฉนวนไฟฟ้าหรือเปลือกพลาสติกที่หุ้มสายไฟกรอบแตกได้เร็ว โดยเฉพาะการติดตั้งด้านนอกอาคารหรือตัวบ้านที่โดนแสงแดดโดยตรง เมื่อมีตัวกระตุ้นที่ทำให้สายไฟเสื่อสภาพก็ยิ่งทำให้อายุการใช้งานลดลงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น หากต้องการติดตั้งสายไฟด้านนอกตัวบ้าน ควรเลือกใช้สายไฟสีดำที่มีสาร Carbo Black ที่ช่วยป้องกันรังสี UV ได้
-
ความร้อน
ในกรณีที่สายไฟต้องเจอความร้อนมาก ๆ และติดต่อกันเป็นเวลานาน มักจะส่งผลให้พลาสติกสูญเสียความยืดหยุ่นได้ ที่สำคัญคือ หากได้รับความร้อนเป็นเวลานาน ๆ และมีความร้อนสูง ก็อาจส่งผลให้ตัวฉนวนไหม้หรือละลายได้เช่นกัน
ฉะนั้น การเลือกใช้สายไฟฟ้าควรดูว่าสายไฟแต่ละชนิดมีพิกัดความร้อนเท่าไหร่ เช่น สายไฟ CV , สายไฟ VCT จะมีพิกัดความร้อนอยู่ที่ 90 องศาเซลเซียส เพื่อให้เลือกประเภทของสายไฟให้เหมาะสมกับจุดที่ติดตั้งได้ อาทิ บริเวณใต้หลังคาที่มีความร้อนสูงและอาจส่งผลให้สายไฟเสื่อมสภาพเร็ว ก็ควรติดตั้งสายไฟที่ทนทานต่อความร้อนได้ดี และต้องออกแบบบ้านให้มีช่องระบายความร้อนควบคู่กัน
-
ความชื้น
อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้สายไฟเสื่อมสภาพได้เร็วไม่แพ้กับการโดนกระตุ้นจากแสงแดดและความร้อน นั่นก็คือ ความชื้น ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะส่งผลต่อคุณภาพของสายไฟในระยะยาว อาทิ จุดต่อสายที่ไม่มีฉนวนหุ้ม และอาจได้รับการกระตุ้นจากละอองฝนและความชื้นจากสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ติดตั้งสายไฟ จนส่งผลให้ตัวนำทองแดงถูกกัดกร่อนและเกิดสนิมได้นั่นเอง ซึ่งเทคนิคที่ช่างไฟนิยมนำมาแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้สายไฟเสื่อมสภาพจากความชื้นคือ การติดตั้งสายไฟในท่อร้อยสายไฟ หรือติดตั้งในรางเดินสาย ที่ช่วยป้องกันได้ทั้งความชื้น แสงแดด ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
รวมเทคนิคง่าย ๆ เช็กสายไฟว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง?
-
สังเกตจากฉนวนสายไฟภายนอก
วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยทำให้เรารู้ว่า ควรเปลี่ยนสายไฟแล้วหรือยัง นั่นก็คือ การดูความสมบูรณ์และความเรียบร้อยของสายไฟจากตัวฉนวน เช่น ไม่มีร่องรอยของการเปื่อย การแห้งกรอบ ฉีดขาด มีรอยแตกร้าว หรือแม้กระทั่งรอยไหม้ รวมถึงร่องรอยอื่น ๆ ที่เป็นการบ่งบอกว่า สายไฟเกิดการชำรุด และที่สำคัญคือ หากพบว่าสายไฟที่ใช้เกิดการชำรุดจนมองเห็นไปถึงลวดทองแดงด้านใน แสดงว่าควรติดต่อช่างไฟหรือช่างผู้ชำนาญมาแก้ไขให้ทันที ไม่ควรปล่อยไว้เพราะอาจหมายถึงความปลอดภัยทั้งต่อตัวบ้านและสมาชิกในครอบครัว
-
ตรวจสอบ สายไฟ จากจุดที่สังเกตได้ยาก หรือมองไม่เห็น โดยจ้างช่างไฟผู้เชียวชาญ
แน่นอนว่า เมื่อติดตั้งสายไฟฟ้าในจุดที่ยากจะสังเกต อาทิ การติดตั้งในผนัง ก็ย่อมส่งผลให้ยากต่อการตรวจสอบได้ว่าสายไฟยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ เพราะฉะนั้น ควรตรวจเช็กทุก ๆ 1 ครั้งในระยะ 1-2 ปี โดยให้ช่างที่มีความเชี่ยวชาญมาตรวจเช็กให้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นบ้านที่มีอายุหลายสิบปี
-
ตรวจสอบจากองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ปลั๊กไฟ
การตรวจเช็กว่าสายไฟควรเปลี่ยนแล้วหรือไม่ นอกเหนือจากดูที่ตัวสายไฟแล้ว ก็ควรตรวจจากอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับสายไฟด้วย ไม่ว่าจะเป็น เต้ารับ สวิตช์ไฟ รวมถึงมิเตอร์ไฟฟ้า เช่น ในกรณีที่ปิดการใช้งานของสวิตช์ไฟฟ้าแล้วพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้ายังวิ่งอยู่ แสดงว่ามีการรั่วของไฟฟ้าแน่นอน หรือในกรณีที่ตัวเต้ารับมีรอยแตกร้าว หรือเสียบปลั๊กแล้วไม่แน่นสนิทดี ก็ควรทำการเปลี่ยนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ไขควงเช็กไฟไปแตะเพื่อเช็กกระแสไฟฟ้าได้ด้วย
เมื่อต้องการเปลี่ยนหรือซ่อมสายไฟ มีอะไรบ้างควรรู้
หากตรวจสอบสายไฟแล้วพบว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน เนื่องจากเกิดการชำรุด เสียหาย หรือเสื่อมสภาพจากปัจจัยต่าง ๆ ก็ควรเปลี่ยนสายไฟทันทีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ในอนาคต
- สายไฟที่ใช้เปลี่ยนต้องผ่านมาตรฐาน มอก.11-2553
- ใช้สายไฟให้ถูกประเภทการใช้งาน และเหมาะสมกับจุดที่ติดตั้ง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะเปลี่ยนสายไฟในบ้านไปแล้ว แต่สุดท้ายก็อย่าลืมว่า สายไฟ มีอายุการใช้งาน เพราะฉะนั้น ควรหมั่นตรวจสอบสายไฟอยู่เสมอเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ จากระบบไฟฟ้า และที่สำคัญคือ หากพบว่าสายไฟมีจุดบกพร่องหรือชำรุดเสียหาย ก็ไม่ควรจะดำเนินการซ่อมแซมเองอย่างเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงสูง ควรติดต่อให้ช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญและมีอุปกรณ์ที่เพียบพร้อม เข้ามาตรวจสอบและแก้ไขให้จะดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมานั่นเอง